นักวิจัยได้แสดงให้เห็นว่าหน้ากากแบบใช้แล้วทิ้งนั้นสามารถนำกลับมารีไซเคิลเพื่อสร้างถนนได้อย่างไร ในแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการกับขยะที่เกิดจากโรคระบาด
ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าการรีไซเคิลวัสดุหน้ากากอนามัยเพื่อสร้างถนนสองเลนระยะทางเพียง 1 กิโลเมตร จะใช้หน้ากากประมาณ 3 ล้านชิ้น ช่วยลดขยะ 93 ตันที่ต้องนำไปฝังกลบ
วัสดุทำถนนชนิดใหม่ที่พัฒนาขึ้นโดยนักวิจัยของมหาวิทยาลัย RMIT ที่เกิดจากส่วนผสมของหน้ากากแบบใช้ครั้งเดียวที่ย่อยเป็นชิ้น ๆ และเศษซากอาคารแปรรูปนี้ เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยทางวิศวกรรมโยธา
การวิเคราะห์แสดงให้เห็นว่าหน้ากากอนามัยช่วยเพิ่มความฝืดและความแข็งแรงให้กับผลิตภัณฑ์ ที่ออกแบบมาเพื่อใช้กับชั้นฐานของถนนและทางเท้า
ผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร “ศาสตร์แห่งสิ่งแวดล้อม” เป็นงานวิจัยชิ้นแรกในการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างทางด้วยหน้ากากผ่าตัดแบบใช้แล้วทิ้ง
การใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงการระบาดของ COVID-19 โดยประมาณการใช้หน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งกว่า 6.8 พันล้านชิ้นในแต่ละวัน
ดร.โมฮัมหมัด ซาบีเรียน ผู้เขียนคนแรกกล่าวว่าขณะนี้จำเป็นต้องมีแนวทางสหสาขาวิชาชีพและความร่วมมือเพื่อจัดการกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของ COVID-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการกำจัด PPE ใช้แล้ว
“การศึกษาเบื้องต้นนี้พิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการรีไซเคิลหน้ากากแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งไปใช้ทำถนน และเรารู้สึกตื่นเต้นที่พบว่าไม่เพียงแต่ใช้งานได้ แต่ยังให้ประโยชน์ด้านวิศวกรรมอย่างแท้จริง” ซาบีเรียนกล่าว
“เราหวังว่าสิ่งนี้จะเปิดประตูสู่การวิจัยเพิ่มเติม เพื่อดำเนินการด้วยวิธีการจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพและความปลอดภัยในระดับที่เหมาะสม และศึกษาต่อไปว่าจะสามารถรีไซเคิล PPE ประเภทอื่นๆ ได้หรือไม่”